วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

จดหมายจากเกียวโต... ถึงเมืองไทย

หนังสือที่เหมือนจะเป็นการเล่าเรื่องของการใช้ชีวิตในต่างแดนธรรมดาๆ แต่หากลองอ่านให้ดีแล้ว คุณจะรู้ว่ามัน”ไม่ธรรมดา

       ตอนแรกที่อ่านก็ไม่ได้คิดจะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้หรอกค่ะ แต่พออ่านไปอ่านมาแล้วรู้สึกเหมือนผู้เขียนต้องการจะสื่อสารอะไรบางอย่างผ่านการเล่าเรื่องชีวิตในเกียวโต ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเอคิดเยอะไปรึเปล่า
      จดหมายจากเกียวโต เป็นการรวมบทความจากคอลัมน์ จดหมายจากเกียวโต ในมติชนสุดสัปดาห์ เขียนโดย ฮิมิโตะ ณ เกียวโต หรือที่หลายๆคนรู้จักในชื่อ คำ ผกา เจ้าของคอลัมน์ กระทู้ดอกทอง ในมติชนสุดสัปดาห์ แค่ชื่อคนเขียนก็บอกแล้วค่ะว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ธรรมดาแน่ๆ ถึงแม้ว่าจดหมายจากเกียวโตจะเป็นผลงานในวงการนักเขียนชิ้นแรกของเธอก็ตาม
       อย่างที่บอกค่ะว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ธรรมดา เพราะนอกจากจะเป็นการเล่าเรื่องของผู้เขียนในขณะที่ไปศึกษาต่อที่เกียวโตแล้ว ยังได้สอดแทรกการวิพากษ์สังคม โดยเปรียบเทียบสังคมไทยกับสังคมญี่ปุ่นที่ผู้เขียนได้ไปประสบพบเจอ
       เปิดเรื่องแรกมาด้วย “ประชาธิปไตยในแฟชั่น ที่พูดถึงเรื่องการแต่งกายของคนในญี่ปุ่นที่ไม่ได้ยึดติดว่าแต่งแบบไหนถึงเรียกว่าสวย ทุกคนสามารถดูดีได้ในแบบของตัวเอง ฮิมิโตะได้ทิ้งท้ายบทนี้ไว้ว่า ยิ่งไปกว่าความเท่าเทียมอันเกิดจากการสร้างสรรค์ของระบบทุนนิยม การตั้งคำถามกับอำนาจหลักในสังคม แม้กระทั่งเรื่องแฟชั่นและความงาม ย่อมเป็นพื้นฐานของการปลดปล่อยตนเองในระบบอำนาจนิยม และเป็นความหวังที่จะเห็นความเป็นประชาธิปไตยผลิใบออกมาบ้างมิใช่หรือ มันทำให้เราต้องมองย้อนกลับมาดูตัวเองว่า ทุกวันนี้เรายึดติดกับกฎเกณฑ์หรือค่านิยมอะไรมากเกินไปหรือเปล่า?
       เรื่อง “มีอะไรในสหกรณ์ ฮิมิโตะได้เล่าถึงของสารพัดชนิดที่มีขายในสหกรณ์ของมหาวิทยาลัยที่เธอไปเรียน ที่มีขายทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนของคอมพิวเตอร์ ตั๋วคอนเสิร์ต ตั๋วชมนิทรรศการ ทัวร์ ตั๋วเครื่องบิน ตั๋วรถบัส ตั๋วรถไฟ หนังสือ ซีดี และอาหาร ซึ่งแตกต่างจากสหกรณ์ในมหาวิทยาลัยของไทยที่ของที่ขายวนอยู่กับเรื่องเรียนและของชำ แสดงให้เห็นว่าที่ญี่ปุ่นเห็นนักเรียนเป็นคนที่มีความรู้ มีวุฒิภาวะ สามารถจัดการกับตัวเองได้ ซึ่งต่างจากในไทยที่มองว่า “เด็กต้องมีการจัดการดูแลและควบคุมความประพฤติ และมองว่าก็เป็น “เด็กจะเอาอะไรมากมาย
      สิ่งที่เราเห็นว่างดงามที่สุดคือสิ่งที่เราไม่มีวันเก็บไว้กับตัวเราตลอดไปได้ ช่วงเวลาที่งดงามที่สุดคือช่วงเวลาแห่งการจากลา ขณะเดียวกัน ความงามก็เป็นความเศร้าอย่างลึกซึ้ง ข้อความนี้มาจากเรื่อง “ใบไม้ร่วงที่เกียวโต ซึ่งก็ไม่ได้แสดงการวิพากษ์สังคมอย่าชัดเจน(หรือเออาจจะเข้าไม่ถึง ฮ่าๆ) แต่ข้อความนี้ก็ทำให้เอฉุกคิดได้ว่า เรามักจะเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราไม่สามารถเก็บไว้กับตัวเราได้ แต่เมื่อเราได้มันมาเป็นเจ้าของแล้ว เราก็มักจะมองข้ามสิ่งนั้น ข้อความนี้เป็นข้อความที่เอชอบมาถึงขนาดเอาไปตั้งสเตตัสเฟซบุ๊กเลยค่ะ
      “ห้องประมูล (auction)เรื่องนี้ฮิมิโตะเล่าถึงการที่คนญี่ปุ่นจะนิยมนำของที่ล้าสมัยหรือตกรุ่นมาประมูลขายใน yahoo auction และทุกคนที่เข้ามาใช้บริการห้องประมูลจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นอย่างมากและไม่เคยพบข่าวโกงกันเลยแม้แต่ครั้งเดียว แสดงให้เห็นถึงสำนึกในความมีสิทธิเท่าเทียมกันของคนในชาติ เธอทิ้งท้ายไว้ว่า สังคมไทยก็เป็นสังคมหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความหวาดระแวงในหมู่พลเมืองด้วยกันเอง โดยการธำรงรักษาไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำ และปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งสามารถแก่งแย่งเอารัดเอาเปรียบคนอีกกลุ่มหนึ่งได้มานานแสนนาน โดยไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น ถ้าหน้าไม่เหมือนพ่อกู กูเบี้ยวได้กูก็เบี้ยว กูโกงได้กูก็โกง จริงไหม ทิ้งท้ายได้แสบมากจริงๆค่ะ
       และในเรื่อง “เที่ยวเมืองไทยสไตล์ญี่ปุ่น ฮิมิโตะแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของเมืองไทยในสายตาคนญี่ปุ่น(ส่วนหนึ่ง) ที่มองว่าวัดวาอารามที่เราว่าสวยงามนักสวยงามหนามีสีสันสวยงามเหมือนในการ์ตูน อาหารการกินของเมืองไทยก็ช่างแปลกพิสดาร ซึ่งคนที่มองแบบนี้ส่วนมากจะเป็นนักท่องเที่ยวที่หาข้อมูลมาเที่ยวเอง ซึ่งมุมมองแบบนี้แตกต่างจากภาพลักษณ์ที่การท่องเที่ยวพยายามโปรโมทอย่างสิ้นเชิง 
       นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาพอหอมปากหอมคอเท่านั้นค่ะ ขืนยกมาหมดก็จะเป็นการสปอยล์เนื้อหาในหนังสือเกินไปหน่อย ยังไงลองไปหาอ่านกันดูนะคะ จะอ่านเอาสนุกก็ได้ ไม่ต้องวิเคราะห์เจาะลึกอะไรจริงจัง เพราะนี่ก็เป็นแค่มุมมองของเอที่มีต่อหนังสือเล่มนี้เท่านั้นค่ะ คนอื่นอาจจะคิดไม่เหมือนกันก็ได้

       สุดท้ายอยากจะฝากไว้ว่า ของบางอย่างที่มองเผินๆอาจจะดูธรรมดา หากเราพิจารณาให้ดี เราอาจจะพบว่า มันไม่ธรรมดาก็ได้นะคะ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น