วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

คู่กรรม: รักที่ลงเอยด้วยน้ำตา

ถึงจะไม่ใช่คนชอบอ่านนิยาย แต่คงไม่มีใครไม่รู้จักนวนิยายเรื่องคู่กรรมใช่ไหมคะ ก็แหม... ทั้งหนัง ทั้งละคร ทั้งละครเวที นำมาทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า แถมยังเป็นนวนิยายไม่กี่เล่มของไทยที่จบแบบโศกนาฏกรรมแล้วได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเสียด้วย

       อันที่จริงมีคนเขียนบทความเกี่ยวกับคู่กรรมไว้ค่อนข้างมาก ซึ่งแต่ละคนก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป พอดีวันนี้เอมีโอกาสได้ออกไปพูดในวิชาวรรณกรรมไทยร่วมสมัยเกี่ยวกับวรรณกรรมที่อ่านแล้วเปลี่ยนความคิดของตัวเอง วรรณกรรมที่เอเลือกคือเรื่องคู่กรรมค่ะ เลยอยากจะมาแชร์ความคิดเห็นของเอเกี่ยวกับคู่กรรมให้ทุกคนได้อ่านกัน
       นวนิยายเรื่องคู่กรรมเป็นผลงานของคุณทมยันตีหรือคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) พ.ศ. 2555 เป็นเรื่องราวความรักของอังศุมาลิน หญิงสาวชาวไทย และ โกโบริ ทหารญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยคุณทมยันตีได้รับแรงบันดาลใจมาจากการไปเยี่ยมชมสุสานทหารที่จังหวัดกาญจนบุรี และเริ่มแต่งนวนิยายเรื่องนี้เมื่อปี 2508
       อย่างที่บอกไปแล้วว่านวนิยายเรื่องนี้จบแบบโศกนาฏกรรม ซึ่งแต่ก่อนเอก็ไม่ชอบนวนิยายที่จบแบบนี้นะคะ อ่านแล้วมันรู้สึกหดหู่อย่างบอกไม่ถูก แต่คู่กรรมก็ทำให้เอเปลี่ยนความคิดและบอกกับตัวเองว่า นวนิยายที่พระเอกตายตอนจบนี่อ่านแล้วก็ได้มุมมองใหม่ๆเหมือนกัน
คู่กรรมเวอร์ชั่นต่างๆ
       คู่กรรมเป็นนวนิยายที่ให้อะไรกับคนอ่านมากเลยนะคะ เอก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องการวิจารณ์วรรณกรรมถึงขนาดที่จะบอกได้ละเอียดมากนัก แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องนี้เลยคือสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลของสงครามทำให้ผู้คนประสบความยากลำบาก ข้าวยากหมากแพง หยูกยาหายาก จะไปไหนมาไหนก็ต้องคอยระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา
       นอกจากนี้คู่กรรมยังสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือทางการเมือง ตอนที่อังศุมาลินแต่งงานกับโกโบริก็เป็นเพราะเหตุผลทางการเมือง ที่ทางไทยและญี่ปุ่นต้องการใช้การแต่งงานของทั้งคู่เป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ซึ่งการใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือทางการเมืองก็พบได้บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ไทย
ละครคู่กรรมปี 2556
       สำหรับสิ่งที่เอได้จากการอ่านคู่กรรมคือ การเห็นความสำคัญของคนที่เรารัก เมื่อเขายังอยู่กับเรา เราก็ควรทำดีกับเขาให้มากๆ ก่อนที่เราจะไม่มีโอกาสได้ทำ เหมืองอังศุมาลินที่ไม่ยอมละทิฐิของตนเอง เอาแต่คิดว่าโกโบริเป็นคนญี่ปุ่นซึ่งชาติที่เข้ามาทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน และยกเรื่องสัญญาที่ให้กับวนัสมากดทับความรู้สึกของตัวเอง เมื่อคิดได้ว่าแท้จริงแล้วรู้สึกยังไงกับโกโบริก็สายไปเสียแล้ว
ละครคู่กรรมปี 2556
       เอว่าถ้าเราอยากจะทำอะไรสักอย่างแล้วไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็ทำเถอะค่ะ ก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะโอกาสก็ไม่ได้มาหาเราบ่อยๆ และเราก็ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นยังไง
ละครคู่กรรมปี 2556
(ภาพจาก http://www.dodeden.com/5505.html)
       อีกอย่างที่เอได้จากคู่กรรมคือเรื่องของการใช้ชีวิตค่ะ ในเรื่องจะเห็นได้ว่าครอบครัวของอังศุมาลินอยู่กันแค่ผู้หญิงสามคน แต่ก็สามารถอยู่กันได้อย่างมีความสุข เมื่อก่อนเอเคยคิดนะคะว่ายังไงซะผู้หญิงก็ต้องมีผู้ชายคอยมาปกป้อง แต่หลังจากอ่านเรื่องนี้แล้วก็รู้สึกว่า จริงๆผู้หญิงเราก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้เหมือนกัน (มีแฟนก็ดีค่ะ แต่ไม่มีก็อยู่ได้ :))
       และถึงแม้ว่าคู่กรรมจะจบลงด้วยความสูญเสีย แต่ก็เป็นความเศร้าที่อิ่มอกอิ่มใจ เพราะตัวเรื่องที่สนุกครบรสและสอดแทรกข้อคิดมากมาย บวกกับภาษาสวยๆของคุณทมยันตีทำให้นวนิยายเรื่องนี้กลมกล่อมมากขึ้น ถ้าใครที่เคยดูหนัง ละคร หรือละครเวทีแล้วแต่ยังไม่เคยอ่านตัวบทประพันธ์ แนะนำให้ลองอ่านกันดูค่ะ นวนิยายเรื่องนี้อาจจะกลายเป็นนวนิยายในดวงใจของคุณก็ได้นะคะ
       ทิ้งท้ายกันด้วยคำพูดที่อังศุมาลินได้บอกกับโกโบริก่อนที่เขาจะสิ้นใจ....

อนาตะ โอ อาอิชิ มาสุ ฉันรักคุณค่ะ อย่าถามนะคะว่ามันมากแค่ไหน คุณเป็นคนได้มันไปเป็นคนแรก และคนสุดท้าย” - อังศุมาลิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น